• Post category:Columns

ในประเทศไทย “กัญชา” เป็นที่ได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน และมีการถกเถียงในหลายประเด็นอันเนื่องมาจากความคิดเห็นที่แตกต่างกัน จนกระทั่งเริ่มมีการค้นคว้าข้อมูลเพื่อนำสารสกัดของกัญชามาใช้ในทางการแพทย์ ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่มีการอนุญาตให้ใช้กัญชาอย่างถูกกฎหมายเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ นอกจากนี้ในภาคธุรกิจยังมีความสนใจในการนำสารสกัดจากกัญชามาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าเพื่อใช้อุปโภคและบริโภค ซึ่งนับว่าได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในช่วงระยะเวลา 1-2 ปีที่ผ่านมา

ถึงแม้ว่าจะมีการผลักดัน “กัญชา” ให้กลายเป็นสินค้าที่ถูกกฎหมาย แต่ยังคงมีกระแสทั้งด้านบวกและด้านลบ ดังนั้นเมื่อวันที่กัญชากลายมาเป็นสินค้าที่ถูกกฎหมาย จึงยังคงแฝงไปด้วยความน่าสนใจว่าสังคมมีความคิดเห็นหรือทัศนคติต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ไปในทิศทางใด

มุมมองในเชิงทัศนคติที่มีต่อ “กัญชา”

จากข้อมูลที่ศึกษาเผยให้เห็นว่าเพศชายมีทัศนคติที่ดีต่อกัญชามากกว่าเพศหญิง ซึ่งในทัศนคติของกลุ่มผู้ตอบพบว่า กัญชานั้นมีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ (63.2%) โดยคนบางกลุ่มมองว่ากัญชาสามารถเป็นพืชเศรษฐกิจได้ รองลงมาคือ อยากจะลองใช้กัญชาในทางการแพทย์ (61.8%) ถัดมาคือ กัญชามีประโยชน์ต่อสุขภาพ (55.9%) เป็นมุมมองที่เกี่ยวกับโรคหรือสุขภาพ เนื่องมาจากมีการพูดถึงสรรพคุณของสารสกัดกัญชาในวงการแพทย์อย่างแพร่หลายในช่วงเวลาที่ผ่านมา โดยจากการศึกษาแสดงให้เห็นว่ากลุ่มคนในช่วงอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป มีความเห็นว่ากัญชามีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและยังคงอยากจะลองใช้ในทางการแพทย์อีกด้วย

ความสนใจที่มาพร้อมความคาดหวัง เมื่อ “กัญชา” กลายเป็นสินค้าที่ถูกกฎหมาย

ในการศึกษาครั้งนี้พบว่าความสนใจที่จะลองบริโภคหรือใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารสกัดจากกัญชามีมากถึง 70% ข้อมูลจากการสำรวจชี้ว่า 7 ใน 10 ของผู้ตอบสนใจที่จะลองใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เมื่อกัญชากลายมาเป็นสินค้าที่ถูกกฎหมาย มีเพียง 3 ใน 10 เท่านั้นที่ไม่สนใจจะทดลอง ซึ่งการศึกษาอาจกล่าวได้ว่าการได้รับคำแนะนำจากเพื่อนหรือญาติมีผลกระทบต่อคนกลุ่มนี้ทำให้เกิดทัศนคติที่ดีขึ้นได้ อย่างไรก็ตามความสนใจที่มากก็ย่อมมาพร้อมความคาดหวังบางประการเช่นกัน โดยความคาดหวังที่มากที่สุดในการลองใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารสกัดจากกัญชาคือ บรรเทาความเครียด (32.6%) รองลงมาคือ การบรรเทาอาการปวด (20.6%) และ ช่วยในเรื่องการนอนหลับ (14.2%) ซึ่งจะเห็นได้ว่าความคาดหวังในการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารสกัดจากกัญชานั้นล้วนเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพกายสุขภาพจิตทั้งสิ้น ซึ่งมีความสอดคล้องกับมุมมองทัศนคติที่กล่าวมาข้างต้น  โดยเพศชายมีความคาดหวังในเรื่องการบรรเทาความเครียด ในทางกลับกันเพศหญิงต้องการใช้กัญชาเพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวด

โอกาสในการปลุกปั้นผลิตภัณฑ์กัญชา

ผลิตภัณฑ์ที่มีสารสกัดจากกัญชาที่ได้รับความสนใจมากที่สุด คือ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม (44.0%) รองลงมาคือ ผลิตภัณฑ์ชา หรือ ชากัญชา (33.8%) และ ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวพรรณ เช่น บอดี้ออยล์/โลชั่น/ครีมบำรุงผิว (33.4%) ซึ่งผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า คนไทยคาดหวังที่จะเห็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์กัญชาในกลุ่มอาหารมากกว่ากลุ่มเวชภัณฑ์เครื่องสำอาง ในทางกลับกันสำหรับการใช้ผลิตภัณฑ์ในชีวิตประจำวัน มากกว่า 50% ของผู้ตอบสามารถใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาในเวชภัณฑ์เครื่องสำอางได้ทุกวันเหมือนผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มีส่วนประกอบของกัญชา เช่น สบู่ เจล อาบน้ำ ยาสีฟัน เป็นต้น กล่าวคือผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้บริโภคเข้าไปสู่ร่างกาย จะไม่ได้มีผลต่อความถี่ที่ใช้ ยังคงสามารถใช้ในชีวิตประจำวันได้เหมือนผลิตภัณฑ์ทั่วไป

Legalizing-adult-use-cannabis-in-Thailand-2

เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายในด้านโอกาสการเติบโตของผลิตภัณฑ์กัญชานั้น จะต้องคำนึงถึงความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งจากการศึกษาพบว่า สิ่งที่เป็นที่ต้องการมากที่สุดคือ การอธิบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับวิธีการใช้ผลิตภัณฑ์ (รวมถึงความถี่และจำนวน) (53.9%) ตลอดจนมีการอธิบายระดับของขนาดของสาร Tetrahydrocannabinol (THC) ซึ่งเป็นสารที่พบในพืชกัญชา (45.5%) และรสชาติ (36.9%) เรื่องราคาถูก (36.8%) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มีผลต่อการทดลองใช้

เพิ่มมุมมองให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

อาจปฏิเสธไม่ได้ว่าคนไทยจำนวนมากยังคงเป็นกลุ่มอนุรักษ์นิยม (Conservative) ซึ่งนั่นหมายถึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะยอมรับการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆที่เกิดขึ้น เรื่องนี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญทำให้คนไม่คิดจะลอง หรือไม่อยากใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารสกัดจากกัญชาถึงแม้ว่าจะถูกกฎหมายแล้วก็ตาม โดยผลการศึกษาได้สนับสนุนการตั้งสมมติฐานว่าด้วยเหตุผลของการปฏิเสธการลองบริโภคหรือใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารสกัดจากกัญชาคือ ไม่รู้เกี่ยวกับผลกระทบ (43.7%) มีความกังวลว่าใช้แล้วอาจเสพติดได้ (42.0%) หรือแม้กระทั่งความกังวลเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพ (26.3%) กล่าวโดยสรุปคือ ผู้บริโภคอาจยังไม่มั่นใจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์กัญชา ดังนั้น การสื่อสารประชาสัมพันธ์จึงถือเป็นเรื่องสำคัญและไม่ควรมองข้าม โดยควรมีวัตถุประสงค์หลักในการให้ความรู้เกี่ยวกับสารสกัดกัญชา เพิ่มความเชื่อมั่นในการใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านความปลอดภัยและผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้จะสามารถเปลี่ยนแปลงทัศนคติที่มีต่อผลิตภัณฑ์กัญชาในอนาคต  

Legalizing-adult-use-cannabis-in-Thailand-3

จากการศึกษาครั้งนี้สามารถสรุปได้ว่า หากต้องการให้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารสกัดจากกัญชาในไทยได้รับการยอมรับนับเป็นความท้าทายสำหรับทุกภาคส่วน ที่ไม่เพียงแต่จะต้องมุ่งมั่นในเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพียงอย่างเดียว แต่ต้องมีการวางแผนหรือการทำงานร่วมกันในหลายมิติ เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจและเพิ่มพูนประโยชน์ของสรรพคุณกัญชาในด้านต่างๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้นเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ทุกฝ่าย